งานออกแบบและเขียนลวดลายล้านนา มหาวิหารวัดศรีดอนมูล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

Last updated: 29 ธ.ค. 2566  |  751 จำนวนผู้เข้าชม  | 

งานออกแบบและเขียนลวดลายล้านนา มหาวิหารวัดศรีดอนมูล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

บทความนี้จะเขียนถึงประสบการณ์การทำงาน
 
“ งานออกแบบและเขียนลวดลายล้านนาสำหรับงานตกแต่งภายในและภายนอก มหาวิหารวัดศรีดอนมูล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ”
 
โดยการร่วมมือระหว่าง
โดย คุณธีรยุทธ นิลมูล ศิลปินล้านนา ประธานกลุ่มนาฏยศิลปินอิสระ “สิปาน คอลเลคชั่น”
โดย คุณจิตตพล แก้วนิล นักออกแบบภูมิสถาปัตย์และนักจัดสวนสไตล์ธรรมชาติ
โดย คุณธีรชาติ สัมฤทธิ์ ศิลปินนักออกแบบภูมิสถาปัตย์ เจ้าของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมดุสิตเทวา เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
 
มหาวิหาร วัดศรีดอนมูล
  • มหาวิหารล้านนาหลังนี้ ถูกสร้างขึ้นด้วยการพัฒนาที่ดินภายในเขตวัดศรีดอนมูล ตำบลชมพู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ตามเจตจำนงที่ตั้งมั่นของพระครูบาน้อย เตชปัญฺโญ ในปฏิปทาที่จะสืบทอดต่ออายุพระพุทธศาสนาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดม รวมถึงการแสดงอัตลักษณ์แห่งล้านนาให้จารึกไว้ยังมหาวิหารหลังนี้
  • กล่าวคือ ในการสร้างวิหารล้านนาขึ้นมาหนึ่งหลังนั้น จำเป็นต้องอาศัยฝีมือสล่างานช่างสกุลล้านนามากมายหลากหลายแขนงมาทำงานร่วมกัน เหตุนี้จึงเท่ากับว่าท่านพระครูบาน้อย ได้มีส่วนในการช่วยทำนุบำรุงฟื้นฟูอัตลักษณ์ทางพุทธศิลป์ของอาณาจักรล้านนาเอาไว้ และนำมารวบรวมไว้เป็นหนึ่งเดียวที่มหาวิหารวัดศรีดอนมูลหลังนี้ จากสภาพเดิมของมหาวิหารนั้นเป็นวิหารทรงล้านนา ทั้งได้มีการประดับประดาด้วยงานตอกดุนโลหะอยู่ก่อนแล้วบ้างในบางส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งพระครูบาน้อย เตชปัญฺโญ ก็ได้มอบความเมตตาให้แก่ทางทีมนักออกแบบจาก หจก.บ้านสวนสถาปัตย์ เป็นผู้ออกแบบลวดลายการตกแต่งภายในของมหาวิหาร ซึ่งก็ได้สำเร็จโดยลุล่วงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในครั้งนี้ทีมงานของ หจก.บ้านสวนสถาปัตย์ ก็ได้รับความเมตตาอย่างต่อเนื่องจากพระครูบาน้อย เตชปัญฺโญ ให้ทำออกแบบการตกแต่งภายนอกของมหาวิหารหลวงวัดศรีดอนมูลด้วยเช่นกัน

 

ในการออกแบบและเขียนลายล้านนาสำหรับการตกแต่งภายใน ของมหาวิหารวัดศรีดอนมูล ตำบลชมพู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งนี้ ในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดบ้านสวนสถาปัตย์และทีมงานผู้รับผิดชอบโครงการ ได้นำเรื่องราวสำคัญที่เกิดขึ้นในพุทธประวัติ ๆ และเกล็ดความเชื่อที่เป็นปกิณกะตามความเชื่อในทางพุทธศาสนา มาเรียบเรียงเขียนลายร้อยสอดประสานลายเส้นที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของ คุณธีรยุทธ นิลมูล ศิลปินล้านนา ผู้รับหน้าที่ออกแบบลวดลายและการวางรูปแบบการตกแต่งภายนอกของมหาวิหารหลังนี้ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและยกถวายให้เป็นอริยทรัพย์ของแผ่นดินล้านนาสืบไป
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
แนวทางในการออกแบบตกแต่งภายนอก ของมหาวิหาร ผู้ออกแบบพบว่าลักษณะทางกายภาพที่สำคัญของมหาวิหารคือการมีกรอบซุ้มประตูและหน้าต่างที่แบ่งสัดส่วนและจังหวะได้อย่างชัดเจน ซึ่งมีช่องทางในการเข้าสู่อาคารอย่างเหมาะสม มีพื้นที่ที่สามารถใช้ในการออกแบบตกแต่งให้เกิดความงดงามและสามารถใช้เล่าเรื่องราวทางพุทธประวัติ เพื่อใช้เป็นสถานที่เรียนรู้ และเจริญในธรรมแก่พุทธศาสนิกชนที่มาเยือนได้อีกด้วย
 
 
 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
  • จากภูมิหลังของมหาวิหารทรงล้านนาที่ได้ยกมากล่าวนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การออกแบบและตกแต่งสภาพภูมิทัศน์ภายนอกโดยรอบของมหาวิหาร ออกแบบให้เป็นเรื่องราวพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ผ่านการนำเสนอมุมมองภาพสังคมและวิถีชีวิตแบบชาวล้านนา ในรูปแบบการแต่งกายแบบชนชาวพื้นเมือง ทั้งกลุ่มไทโยนก ไทลื้อ ไทเขิน และกลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายและนิยมอิงอาศัยอยู่แนบชิดกับธรรมชาติ โดยที่ยังคงองค์ประกอบสำคัญของความเป็นวัฒนธรรมล้านนาไว้อย่างเหนียวแน่น
  • จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล และรวบรวมองค์ความรู้ มาเพื่อใช้เป็นแม่บทในการปรับประยุกต์เป็นแนวทางการสร้างงานในรูปแบบเฉพาะตัวของวัดศรีดอนมูล โดยการนำความรู้ในเรื่องการวางระบบความคิด ผังของการเล่าเรื่องผ่านสวนและลำธาร ซึ่งเป็นความชำนาญในอาชีพการทำงานของ หจก.บ้านสวนสถาปัตย์ อยู่แล้วเป็นทุนเดิน มาผสมผสานในการนำเสนอรูปแบบศิลปะสถานและสถาปัตยกรรมของมหาวิหารที่งดงามหลังนี้ โดยจะได้รับการแต่งแต้มด้วยผลผลิตที่ได้จากรวมพลังทางความคิดสร้างสรรค์ของทีมงานนักออกแบบที่ได้กลั่นกรองออกมาอย่างสุดความสามารถ โดยการออกแบบตกแต่งภายนอกของมหาวิหารหลวงวัดศรีดอนมูลนั้น มุ่งเน้นองค์ประกอบและแนวคิดสำคัญในการออกแบบ ดังนี้
    ๑. หน้าที่ใช้สอยที่ต้องใช้งานได้จริง เหมาะสมแก่ฐานะของมหาวิหาร
    ๒. หน้าที่ใช้สอยจะต้องประกอบกันให้สอดคล้องกับลักษณะการออกแบบตกแต่ง โดยมุ่งเน้นการนำ “ศิลปะสถาน” และ “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นล้านนา” ที่สามารถกระตุ้นเตือนให้เกิดมโนนึกและความทรงจำที่เป็นความงดงามในอดีตและทรงคุณค่าทางความรู้สึก
    และประการสุดท้ายซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ
    ๓. ทั้งหน้าที่ใช้สอยและการตกแต่งต้องสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันกับภาพกรอบแนวความคิดในการออกแบบ โดยการนำองค์ประกอบทุกภาคส่วนข้างต้นที่ได้กล่าวไป มาเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกัน อาทิ ภาพสลักดุน เสาวิหาร กระเบื้อง ลวดลายปูนปั้น ก้อนหิน ต้นไม้ใบหญ้า ตลอดจนถึงพนักงานเจ้าหน้าที่กรรมการผู้เป็นพุทธบริษัท หรือแม้กระทั่งสัตว์ที่เข้ามาอาศัยและนำมาเลี้ยงไว้ในอาณาบริเวณ ทั้งหมดนี้จะต้องสามารถสอดประกอบให้คล้องกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพของ “มหาวิหาร ราชสถานหลวงวัดศรีดอนมูล” ที่เปรียบเสมือนจินตภาพแห่ง พุทธศิลป์ล้านนา ที่กลายมาเป็นภาพความจริง ที่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าสามารถเข้าถึงได้ การตกแต่งอันงดงามของมหาวิหารหลังนี้จะช่วยกระตุ้น ปลุกเร้า จรรโลง “จิตตะ” และ “ผัสสะ” ของผู้ที่ได้มาเยี่ยมเยือน นอกเหนือจากจินตภาพอันวิจิตรตระการตาที่จะเกิดขึ้นแก่พุทธศาสนิกชนแล้ว ก็ยังจะได้เข้าถึงและเข้าใจในปฏิปทาแห่งพระครูบาน้อย เตชปัญฺโญ ที่ได้บรรจงวาดวางแผนอันเป็นฐานรากของการก่อสร้างมหาวิหารหลังนี้ เพื่อให้เกิดความเจริญทางตา เจริญใจ เจริญทางโลก และเจริญในทางธรรม รวมถึงสติปัญญาในทางธรรมที่จะเกิดแก่พุทธศาสนิกชน โดยในขั้นตอนของการออกแบบ ได้แบ่งพื้นที่ภายนอกออกเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ 3 ช่วงตอน ได้แก่
    ช่วงที่ ๑ ประสูติและก่อนตรัสรู้
    ช่วงที่ ๒ หลังจากตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
    ช่วงที่ ๓ หลังจากเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน และถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

 

 

 


 

 ภาพงานก่อสร้าง มหาวิหารวัดศรีดอนมูล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ 

ที่มา : เพจ วัดศรีดอนมูล Watsridonmoon

ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง สามารถชื่นชมความงดงาม และเรียนรู้เรื่องราวทางพุทธประวัติ ได้ที่ วัดศรีดอนมูล ตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้